ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2565
ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (14/2) ที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 32.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยตอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติ นอกจากนี้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง หลังจากผู้ส่งออกทองคำเทขายเงินดอลลาร์ในขณะที่ราคาทองคำดีดตัวขึ้นถึงระดับ 1,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหารัสเซียและยูเครน
ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยนั้น นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.7% โดยปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันและราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปี โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือน ม.ค.ปรับเพิ่มมากที่ 3.23%
สำหรับปัจจัยในต่างประเทศนั้น นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน มี.ค.นี้ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% จากระดับ 7.0% ในเดือน ธ.ค.
ในขณะเดียวกัน นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยล่าสุดนักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 55% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 7 ครั้งในปีนี้ เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 88% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน มี.ค. รวมทั้งให้น้ำหนัก 95% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมอย่างน้อย 1.00% ภายในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า แม้กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้
เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ตลาดแรงงานและการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่การพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเงินเฟ้อและข้อมูลด้านอื่น ๆ ในการประชุมแต่ละครั้ง โดยเฟดจะกลับมาประเมินช่วงเวลาเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมแต่ละครั้ง โดยรายงานการประชุมบ่งชี้ว่า เฟดอาจจะไม่เร่งปนรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่รวดเร็ว และรุนแรงไปกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. พุ่งขึ้น 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1% หลังจากดิ่งลง 2.5% ในเดือน ธ.ค. โดยยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทะยานขึ้น 14.5%
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครน หลังจากเจ้าหน้าที่สหรัฐเตือนว่ารัสเซียอาจโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ ซึ่งทางสหรัฐได้สั่งย้ายสถานทูตในกรุงเคียฟไปยังพื้นที่ฝั่งตะวันตกของยูเครนแล้ว ส่วนการเจรจาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐและประธานาธิบดีวาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขวิกฤตยูเครน ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.09-32.73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (18/2) ที่ระดับ 32.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (14/2) ที่ระดับ 1.1355/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 1.1389/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าหลังถูกกดดันจากสถานการณ์ปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) ได้เปิดเผยข้อมูล ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.9% ในเดือน ม.ค. ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการประมาณการของทางธนาคารกลางยุโรปว่าความกดดันทางภาวะเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลง ซึ่งจะลดความจำเป็นในการปรับนโยบายการเงิน
ส่วนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.3 ในเดือน ก.พ.จากระดับ 51.7 ในเดือน ม.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 โดยในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังมีความผันผวนจากข่าวความเคลื่้อนไหวของรัสเซียและยูเครน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1278-1.1395 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/2) ที่ระดับ 1.137/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (14/2) ที่ระดับ 115.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 116.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนกลับสู่ความต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลระหว่างปัญหารัสเซียและยูเครน หลังจากนาโตระบุว่า รัสเซียยังคงมีการเสริมกำลังทหารตามชายแดนยูเครนอยู่ แม้จะมีรายงานก่อนหน้านี้ว่ามีทหารบางส่วนได้กลับฐานแล้วก็ตาม
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ (GDP) ไตร 4/2564 ขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี และขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/2564 ของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส ส่วนตลอดปี 2564 นั้น ตัวเลขจีดีพีขยายตัว 1.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังจากที่ปรับตัวลง 4.5% นอกจากนี้ สำนักข่าวเกียวโตรายงานว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือน ม.ค.สูงสุดในรอบ 8 ปี เนื่องจากยอดการนำเข้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงเงินเยนที่อ่อนค่าลง
โดยรายงานขั้นต้นจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 2.19 ล้านล้านเยน (1.9 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นการขาดดุลสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 ซึ่งขณะนั้นมีตัวเลขขาดดุลอยู่ที่ 2.80 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่้อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 114.78-115.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (18/2) ที่ระดับ 115.14/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance