tanichitan

News

‘ฟันด์โฟลว์’ ปักหลักลงทุนหุ้นไทย ตลท.เชื่อเทรนด์ระยะยาว

“ภากร” ชี้ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นไทย มองเป็นเทรนด์ระยะยาว เหตุ บจ.ไทยแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจนิวเอสเคิร์ฟ-กระจายลงทุนต่างประเทศ “บล.ทรีนี้ตี้” ลุ้นกลับมาซื้อชดเชยปี 63 ที่ขายสุทธิไปกว่า 2.6 แสนล้าน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจจัดสัมมนาหุ้นไทยปีขาล “เสือคะนอง หรือ เสือลำบาก” โดยได้รับเกียรติจาก นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ทิศทางการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกและหุ้นไทย ปี 2565”

ในช่วงเดือน ม.ค.ถึงวันที่ 21 ก.พ.2565 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง ซื้อสุทธิรวม 70,583.73 ล้านบาท โดยในเดือน ม.ค.ซื้อสุทธิ 14,359.35 ล้านบาท และ ก.พ.ซื้อสุทธิ 56,224.38 ล้านบาท

นายภากร กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนนี้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยแล้วมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเทรนด์การกลับเข้ามาลงทุนในระยะยาว โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนตามน้ำหนักของดัชนี เช่น ดัชนีเอ็มเอสซีไอเอเชีย (MSCI Asia Ex Japan) หุ้นไทยมีสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ และมีน้ำหนักที่ได้รับจัดสรรค่อนข้างคงที่ และหลายครั้งปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่ระยะหลังปรับตัวลดลงจากที่ดัชนีดังกล่าวนำหุ้นจีนเข้ามาคำนวณมากขึ้นเท่านั้น

‘ฟันด์โฟลว์’ ปักหลักลงทุนหุ้นไทย ตลท.เชื่อเทรนด์ระยะยาว

ปัจจัยดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติ

โดยจุดดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ความเข้มแข็งในการทำธุรกิจของบริษัทไทยในประเทศไทย และในต่างประเทศ หากดูแค่ความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจในประเทศ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยอาจไม่ได้เติบโตขึ้นมาก แต่หากดูในต่างประเทศ จะเห็นว่าหลายบริษัทกลายเป็นผู้เล่น (Player) ระดับโลก ตรงนี้เป็นจุดดึงดูดฟันโฟลว์จากต่างประเทศ

อีกประการหนึ่ง คือ ธุรกิจใหม่ๆ ที่ประเทศไทยทำได้ดี ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม แต่ส่งผลให้เกิดการเติบโตแบบใหม่ (New S-curve) เช่น บริษัทที่ทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร บริษัทที่ทำเกี่ยวกับกราฟฟิก บริษัทที่ทำเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี หรือบริษัทที่ทำเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ฯลฯ ช่วยต่อยอดความน่าสนใจ บจ.ไทยในระดับโลก

ทั้งนี้จุดเด่นของประเทศไทยไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ แต่เป็นพื้นที่ ที่ติดต่อกับประเทศที่เศรษฐกิจกำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา จีนตอนใต้ กลุ่มประเทศ CLMV และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยบริษัทของเราออกไปทำธุรกิจรอบๆ ประเทศไทย รวมถึงข้ามไปทำธุรกิจที่ยุโรปและสหรัฐด้วย ดังนั้น เชื่อว่าจากการที่ บจ.ของเราออกไปทำธุรกิจที่อื่น มีการกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจใหม่ๆ จะเป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมถึงสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาระดมทุนของบริษัทใหม่ๆ ทำให้ตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันสามารถดึงดูดนักลงทุนได้มาก

คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.5-4.5%

นายภากร กล่าวว่า นอกจากปัจจัยบวกที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังมีจุดแข็งจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าจีดีพีปี 2565 จะเติบโตราว 3.5-4.5% จากปี 2564 ที่ 1.6% จากแรงหนุนการเติบโตของกลุ่ม บจ.ที่เดิมถูกผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับบริการในประเทศ (ธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดี ฯลฯ) รวมถึงกลุ่มสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค เหล่านี้ หากควบคุมโควิด-19 ได้ดีขึ้น คาดมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวต่อในปีนี้

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีจุดแข็งด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน สะท้อนจาก บจ.ไทยที่ได้รับการจัดอันดับในดัชนีความยั่งยืนยืนโลก ได้แก่ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) จำนวน 24 บริษัท ดัชนีความยั่งยืนเอ็มเอสซีไอ (MSCI ESG) 44 บริษัท และดัชนีความยั่งยืนฟุตซี่ (FTSE4Good) 44 บริษัท อีกทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจัดทำดัชนีรวมหุ้นยั่งยืน (SETTHSI) ซึ่งมีหุ้นผ่านเข้าคำนวณสูงถึง 77 บริษัท

ขณะที่ปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมสร้างอีกหนึ่งจุดแข็งให้แก่ตลาดหุ้นไทย โดยจะเปิดช่องทางระดมทุนให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงสตาร์ทอัพ ผ่านตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVE Exchange) ซึ่งจะมีส่วนที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มฟูมฟัก (Incubator Platform) และส่วนที่เป็นตลาดซื้อขายเปลี่ยนมือ (Exchange) ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว รวมถึงช่วยให้ตลาดทุนไทยมีผลิตภัณฑ์ลงทุนใหม่ๆ มากขึ้น

ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าทั้งหุ้น-บอนด์

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า ทิศทางฟันด์โฟลว์ยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องในปีนี้ โดย 2 เดือนที่ผ่านมา (ต้นปีถึง 18 ก.พ.) นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท รวมถึงเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้แล้วกว่า 1.4 แสนล้านบาท รวมเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้ามา 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินของเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ยังไหลเข้ามาลงทุน เพราะ ประเทศไทยสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรที่แท้จริง ของไทยสูงกว่าสหรัฐถึง 5%รวมถึงมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก (Global AUM) ซึ่งเตรียมจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Markets) ให้เท่ากับค่าเฉลี่ยที่ 9%

จากปัจจุบันสัดส่วนลงทุนอยู่ที่ 6.3% หรือคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเกิดใหม่อีกราว 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 23 ล้านล้านบาท) ซึ่งตลาดหุ้นไทยจะได้ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว ทำให้มีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะปรับขึ้นแตะระดับ 1,800 จุดในปีนี้

“เพียงต้นปี 2565 ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาซื้อสุทธิแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท ชดเชยการขายสุทธิของทั้งปี 2564 ที่ 4.9 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะสามารถชดเชยการขายสุทธิของทั้งปี 2563 ที่ 2.6 แสนล้านบาทได้หรือไม่”

เชื่อเฟดลดงบดุลไม่กระทบเงินไหลออก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมลดขนาดงบดุลลง เชื่อว่าจะไม่ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยเป็นจำนวนมากเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับขึ้นร้อนแรง คาดว่าจะไม่ปรับตัวสูงไปมากกว่านี้

ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมากกว่าระดับปัจจุบัน จะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยได้อย่างไรก็ดี เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ในปัจจุบันยังบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่เริ่มฟื้นตัว จึงมีโอกาสฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business

You may also like...