tanichitan

News

เปิดวิสัยทัศน์ “ผยง ศรีวณิช” นำพาองค์กรฝ่าวิกฤต รับ Digital Economy สู่เติบโตยั่งยืน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนา iBusiness forum หัวข้อ “2022 Next economic chapter. New opportunities and challenges ก้าวต่อไปเศรษฐกิจไทย 2565 โอกาสและความท้าทายใหม่” ว่า ในปี 2565 นั้น เศรษฐกิจของเรากำลังเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากต้องเผชิญกับ Perfect storm มาแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมร่วมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้คาดการณ์ว่าปี 2565 นี้ GDP ของประเทศไทยจะขยายตัวได้มากขึ้นที่ 3.0-4.5% (เทียบกับปี 2564 ที่ 0.5-1.5%) แต่ยังคงมีช่องว่างเมื่อเทียบกับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่าย เช่น IMF, World Bank, OECD ต่างประเมินว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.0-5.0% ในขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีอัตราการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน (K-shaped recovery) และยังมีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ถูกกดดันจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นรวดเร็วจากผลกระทบของ COVID-19 ปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเร่งใช้โอกาสจาก Growth Driver ใหม่ๆ และกระแส Mega Trends ของโลก เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง บนแนวคิดของการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

ทั้งนี้ เมื่อมองภาพอนาคตไปข้างหน้า ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงินต่างเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของ New Growth Driver ที่จะมาเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งในระยะต่อจากนี้ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เข้าไปเปลี่ยนโฉมหน้ากระบวนการดำเนินธุรกิจ ปฏิรูปการทำงานในวงกว้างกำลังเข้มข้นมากขึ้น รวมถึงกระแส Net Zero Emission เป็น Agenda อันดับต้นของโลก ซึ่งประเทศไทยได้ตื่นตัวและนำมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจ Bio-circular-green economy เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน ตามกรอบแนวคิด ESG ซึ่งจะเป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้แก่ธุรกิจรายย่อย เพื่อให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กมีโอกาสในการเติบโตได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวท่ามกลางความเปราะบางจากร่องรอยที่วิกฤตโควิด-19 ได้ทิ้งไว้ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน และความเหลื่อมล้ำที่ถูกเผยให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

โดย Mega Trends ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงนี้จะเป็นตัวที่กำหนดทิศทางของทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงินในการปรับตัวสู่ NEXT Economy ของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะ Technology Disruption ที่ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มนอน แบงก์ ที่มีศักยภาพและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรมการเงินมากขึ้น ก่อเกิดนวัตกรรมการเงินที่หลากหลายที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ โดยจากรายงาน FinTech in ASEAN 2021 พบว่าในปี 2564 นั้น ประเทศไทย มี FinTech Firms จำนวน 268 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 177 แห่งในปี 2560 และสถาบันการเงินในไทยมีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาปรับปรุงวิธีการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้แข่งขันได้ในบริบทที่คนไทยเข้าสู่ยุคของ Digital Finance อย่างเข้มข้น ดังจะเห็นได้จากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน Mobile banking ที่คาดว่ามีปริมาณสูงถึง 15,000 ล้านธุรกรรมในปี 2564 เติบโตขึ้นจากในปี 2560 ที่มีเพียง 1,300 ล้านธุรกรรม เช่นเดียวกับการทำธุรกรรมผ่านระบบ Prompt Pay ที่มีจำนวนธุรกรรมสูงถึง 9,400 ล้านธุรกรรม เติบโตขึ้น 10 เท่าจากปี 2560

ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จะมาพร้อมกับรูปแบบความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกการเงิน และอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เช่น ปัญหาความเสี่ยงด้าน Cyber Attack และการโจรกรรมข้อมูล ซึ่ง Cyber Security Ventures ได้ประมาณการว่าในปี 2025 จะมีการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกเนื่องจากการโจรกรรมทางไซเบอร์กว่า 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สูงขึ้นจากเดิมที่ระดับ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 รวมถึงปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบเทคโนโลยี ปัญหาด้านการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (financial exclusion) ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่ไม่เพียงพอ การขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและดิจิทัล ความเสี่ยงที่ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินต้องเผชิญ เนื่องจากผู้รับบริการอาจขาดความเข้าใจและความคุ้นชินกับรูปแบบผลิตภัณฑ์และการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ และประการสุดท้าย คือ ปัญหาด้านช่องว่างของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่อาจไม่เท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

**เผยโรดแมป 4 ธีมรับ Digital Economy**
นายผยง กล่าวอีกว่า จากภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปในเร็ววันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงินไทย เพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open ได้แก่ Open Competition, Open Infrastructure และ Open Data อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างด้านการแข่งขันที่มากขึ้นจะต้องคำนึงถึงหลักการกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยงและมีความเท่าเทียมกันทั้งกับผู้เล่นเดิมและผู้เล่นหน้าใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดหรือการใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เป็นธรรม จนอาจส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและผู้บริโภคในวงกว้าง พร้อมกันนั้น แนวทางภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่จะเน้นการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่โลกการเงินใหม่อย่างยั่งยืน ทั้งภาคการเงินและภาคครัวเรือน รวมถึงการปรับรูปแบบกำกับดูแลที่คำนึงถึงสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรม และการกำกับดูแลความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยจำเป็นต้องทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อลดภาระหรือต้นทุนการกำกับดูแลของผู้ให้บริการทั้งรายเดิมและรายใหม่ และเอื้อให้ผู้ให้บริการสามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและมีความเสมอภาค ขณะที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและดิจิทัลเพื่อพัฒนาการให้บริการภายใต้บริบทการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวดีขึ้น ตลอดจนโอกาสและความท้าทายจากบริบทใหม่ๆ ใน New normal การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และให้สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ท่ามกลางความเปราะบางจากร่องรอยของวิกฤตโควิด-19 และคลื่นการทำลายล้างของแห่งเทคโนโลยี ที่ยังคงถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนกลยุทธ์การดำเนินของภาคธุรกิจ สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก จึงได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์และวาง Roadmap ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ด้วยการมุ่งส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน เพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ใน 4 Themes ได้แก่ 1) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 2) การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค CLMV & AEC + 3) การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และ 4) การให้ความสำคัญด้านทรัพยากรมนุษย์

ธีมแรก คือ “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ซึ่งหมายถึงการเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะยกระดับขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจให้ภาคธุรกิจในระยะถัดไป สอดคล้องกับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยในระยะข้างหน้าที่กำลังจะถูกพลิกโฉมหน้าเพื่อช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2021 ในรายงาน World Digital Competitiveness Ranking โดยสถาบัน IMD ได้จัดสถานะความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 38 จากทั้งหมด 64 ประเทศทั่วโลก ซึ่งยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 5 และ 27 ตามลำดับ โดยยังมีปัจจัยหลายด้านที่ประเทศไทยควรต้องเร่งมือพัฒนาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เช่น การใช้ Big Data and Analytics ในภาคธุรกิจ (อันดับที่ 29) การเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) (อันดับที่ 27) และการรับมือกับความเสี่ยงด้าน Cyber Security (อันดับที่ 29) ซึ่งประเทศไทยควรเร่งพัฒนามิติเหล่านี้เพื่อสร้างความพร้อมและความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น

เพื่อตอบโจทย์รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่กล่าวไว้ข้างต้น ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ร่วมมือกันพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการหลายด้านเพื่อเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกด้านธุรกรรมทางการเงินให้แก่ภาคธุรกิจและภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงมาตรการในทางปฏิบัติ โดยในระดับนโยบายนั้น ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดทำภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย เพื่อนำไปสู่การเปิดโอกาสให้ภาคการเงินสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการผ่านแนวนโยบายสำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้จัดตั้ง Virtual Bank เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านนวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ การพัฒนากลไกค้ำประกันเครดิตสำหรับความต้องการเงินทุนที่หลากหลาย การขยายให้กลุ่ม Non-Bank สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น รวมถึงการเร่งลดการใช้เงินสดและลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

สำหรับมาตรการในภาคปฏิบัตินั้น ที่ผ่านมา สมาคมธนาคารไทย ธนาคารสมาชิก และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันผลักดันโครงการ “Smart Financial and Payment Infrastructure” ซึ่งเป็นการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาคการเงินและภาคธุรกิจของประเทศ โดยใช้มาตรฐาน ISO 20022 เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความซ้ำซ้อนและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างครบวงจร ช่วยลดต้นทุน และยกระดับการบริหารความเสี่ยงทั้งของธนาคารและภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ขณะนี้กำลังมีการผลักดันระบบอำนวยความสะดวกด้านการคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยผู้ประกอบการสามารถส่งข้อมูล e-tax invoice และ e-tax receipt ผ่านธนาคาร ทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาคืนภาษีที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันผลักดันเพื่อส่งเสริมระบบการยืนยันตัวตนแบบดิจิทัลที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น ผลักดันการใช้ National Digital ID (NDID) และระบบ e-Signature ในหลากหลายภาคส่วน และจะมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล และความเสี่ยงทางไซเบอร์ (Cyber Risk) อย่างเข้มข้นด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ยังมุ่งมั่นผลักดันการวางกรอบแนวทางและโครงสร้างต่างๆ ที่สนับสนุนระบบ “Open Banking” ซึ่งเป็นการอาศัยเทคโนโลยี API มาใช้เพื่อแชร์ข้อมูลร่วมกันมากขึ้น โดยล่าสุดได้ร่วมกันเปิดตัวการให้บริการ d-Statement ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการใช้ข้อมูล bank statement สามารถขอให้ธนาคารที่มีบัญชีเงินฝากส่งข้อมูล bank statement ไปยังธนาคารแห่งอื่นได้โดยตรง ผ่านช่องทาง mobile banking application หรือช่องทางอื่นตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งกำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกในการใช้บริการทางการเงินยิ่งขึ้น โดยคาดว่าภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะเริ่มให้บริการในธนาคารทั้งหมด 11 แห่ง

Theme ที่สอง คือ “การเป็นผู้นำการให้บริการทางการเงินในภูมิภาค” ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนสามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างไหลลื่น รวดเร็ว ปลอดภัย และในต้นทุนต่ำ เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่เชื่อมโยงระหว่างกันสูงและมีแนวโน้มคึกคักมากขึ้น ตลอดจนเพื่อรองรับโอกาสใหม่ๆ ของภาคธุรกิจ จากการขยายตลาดสู่ภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ อาเซียนถือเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตลาด CLMV หรือประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม ที่เป็นฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ โดยมีจำนวนประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 170 ล้านคน มีมูลค่า GDP ปี 2564 รวมกันกว่า 4.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และ IMF คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2565-2569 นี้ GDP จะขยายตัวสูงถึงปีละ 4-7% ซึ่งสูงกว่า GDP ของประเทศไทยที่คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5-5% พร้อมๆ กับพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านคมนาคมอย่างโครงข่ายเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ CLMV กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุนต่างชาติ เช่น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI สู่ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม รวมกัน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น footprint ของภาคเอกชนไทยในภูมิภาคจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับโอกาสดีๆ ในอนาคต สำหรับในภาคการเงินนั้นยังมีโอกาสในการเติบโตขึ้นอีกมาก สะท้อนจากการเข้าถึงบริการทางการเงินและการพึ่งพาระบบสถาบันการเงินที่ไม่สูงนัก เช่น สัดส่วนสินเชื่อของภาคเอกชนในประเทศต่อ GDP ในปี 2563 ของประเทศพม่า ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 27% ขณะที่กัมพูชาอยู่ที่ระดับ 140% เทียบกับประเทศไทยที่อยู่ที่ 160% และค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 148%

สมาคมธนาคารไทยจึงมี Roadmap ที่จะเดินหน้าสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลระหว่างกันในภูมิภาค (Interoperability of cross-border digital utilities) เพื่อขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและสร้างความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและขยายไปยังภูมิภาคอื่น หลังจากที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างประเทศแบบ Real time โดยใช้ QR Code กับ 6 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามแผน ASEAN Payment Connectivity ซึ่งในระยะต่อไปจะเพิ่มจำนวนธนาคารและ Non-bank ที่ให้บริการมากขึ้น รวมทั้งจะขยายบริการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับแทนเลขที่บัญชีอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการสนับสนุนระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน เป็นสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกสำหรับประชาชนที่มีความปลอดภัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเศรษฐกิจไทย และต่อยอดสู่การชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross-border payment) ทั้งนี้ ธปท. คาดว่าจะเริ่มทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลในระดับประชาชน (Retail CBDC) ในวงจำกัด (pilot test) ประมาณปลายปี 2565 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา CBDC ของนานาประเทศ ตามที่ IMF ให้ข้อมูลล่าสุดว่าขณะนี้มีธนาคารกลางกว่า 100 ประเทศ ที่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาและพัฒนา CBDC เช่น ประเทศจีนเดินหน้าทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล โดยมี user ที่ใช้งานแล้วมากกว่า 100 ล้านคน คิดเป็นปริมาณธุรกรรมกว่า 1 พันล้านหยวน ขณะที่ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ก็เพิ่งออกรายงานการศึกษาเกี่ยวกับ CBDC เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบุว่า “a CBDC could fundamentally change the structure of the U.S. financial system” หรือหมายถึงว่า CBDC จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมโครงสร้างระบบการเงินในสหรัฐฯ

Theme ที่สาม คือ “การสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งหมายถึงการดำเนินงานของธนาคารเอง และการมีส่วนผลักดันให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนคำนึงถึงหลักการ ESG หรือการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีงานวิจัยในต่างประเทศเผยว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศที่อาจเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากที่สุดจากภาวะโลกร้อน ขณะที่ผลสำรวจผู้นำประเทศทั่วโลกต่อความเสี่ยงในอนาคต ล่าสุดในรายงาน Global Risks Report 2022 โดย World Economic Forum พบว่าความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาสภาพอากาศ เป็นความเสี่ยงอันดับสูงสุดของโลกทั้งในระยะกลาง (2-5 ปีข้างหน้า) และระยะยาว (5-10 ปี) ท่ามกลางกระแสโลกที่หันมาจริงจังกับการแก้ปัญหา Climate change มากขึ้น โดยข้อมูลจาก World Economic Forum และ Boston Consulting Group ชี้ว่าในปี 2562 มีเพียง 29 ประเทศ ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 10% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ได้ประกาศให้คำมั่นสัญญาเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ net zero emission ขณะที่ข้อมูลล่าสุดในปัจจุบันพบว่ามีประเทศที่ประกาศเป้าหมายดังกล่าวมากถึง 92 ประเทศ ครอบคลุม 78% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งหนึ่งในนั้น คือประเทศไทยที่ตั้งเป้าบรรลุ net zero emission ภายในปี 2608 ใกล้เคียงกับนานาประเทศ พร้อมทั้งชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า

โดยทิศทางเหล่านี้เป็นได้ทั้งโอกาส เช่น โอกาสในธุรกิจใหม่ๆ อย่างพลังงานสะอาดและโปรตีนทางเลือก ขณะเดียวกัน อาจมาพร้อมกับความท้าทาย เช่น ภาคอุตสาหกรรมของไทยที่ยังใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น นโยบาย Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น ดังนั้น สมาคมธนาคารไทยจึงต้องการจะมีส่วนในการผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green economy และ BCG economy อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น ยังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการเร่งพัฒนาและนำแนวปฏิบัติด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงจัดทำ ESG Declaration อย่างชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยยังมุ่งมั่นที่จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หลังจากวิกฤตโควิด-19 ซ้ำเติมให้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP พุ่งสูงถึง 90% ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ได้รวมถึงหนี้นอกระบบ ที่ในระยะหลังมีแนวโน้มเติบโตสูง จากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าภาวะการเป็นหนี้ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นจาก 46.3% ในปี 2562 เป็น 52.7% ในปี 2564 ขณะที่จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น สมาคมธนาคารไทยจึงให้ความสำคัญกับการช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ โดยจะสนับสนุนการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ ด้วยการรวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง Bank, Non-bank และโดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มียอดหนี้ครัวเรือนมากถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือ 15% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เพื่อที่จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ควบคู่กับการเดินหน้าให้ความรู้ทางการเงินและความรู้ทางดิจิทัล รวมถึงสร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงินและส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มเปราะบางอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน

**เร่งหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน**
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น (Financial Inclusion) โดยเฉพาะ SMEs ที่ ธปท.ได้เปิดเผยว่ามากกว่า 60% ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) เนื่องจากไม่มีข้อมูลในระบบหรือมีประวัติทางการเงินไม่มากพอ จึงเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ต้องหาหลักประกันหรือการค้ำประกันเพิ่มเติม หรือต้องหาแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่น โดยสมาคมฯ จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ (Alternative credit scoring) รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Digital lending) ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนั้น สมาคมฯ ยังร่วมมือกับทุกภาคส่วนจะขับเคลื่อนโครงการ “Smart Financial and Payment Infrastructure” ที่จะเปลี่ยนข้อมูลการค้าระหว่างกันจากรูปแบบ Paper-based เป็นรูปแบบ Digital-based มากขึ้น เช่น การวางใบแจ้งหนี้ การยืนยันรับใบแจ้งหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-invoicing) และการยืนยันชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) ซึ่งนอกจากจะทำให้ภาคธุรกิจขนาดเล็กสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ธนาคารมีข้อมูลในการพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสภาพคล่องและเงินทุน อีกทั้งยังช่วยให้ธนาคารสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้นด้วย

และ Theme ที่สี่ คือ “การให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์” หรือการพัฒนา Pool of talents ที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต สามารถปรับตัวรองรับกระแส disruption ต่างๆ ได้ และลดปัญหา Mismatch ของตลาดแรงงาน ซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้เป็นเพียงความท้าทายของภาคธนาคารเท่านั้น แต่ยังถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับภาคเศรษฐกิจจริงที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ต้องเร่งตีโจทย์เรื่องนี้ให้แตก ปัจจุบันแรงงานไทยกำลังเผชิญปัญหา Skills Gaps ที่กว้างขึ้น ขาดทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนโลกในมิติต่างๆ โดยสถาบัน IMD ได้เผยว่า ในปี 2021 ประเทศไทยมีระดับทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีอยู่ในอันดับที่ 42 จาก 64 ประเทศ ตามหลังสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 8 และมาเลเซียในอันดับที่ 28 และภาคธุรกิจในไทยมีความต้องการบุคลากรในด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นจนสถาบันการศึกษาไม่สามารถผลิตได้ทัน จากการประมาณการของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบว่าที่ผ่านมาระหว่างปี 2562-2565 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรในสาขาอาชีพใหม่ๆ เช่น Data Scientist นักพัฒนาเกมและแอนิเมชัน และนักพัฒนาและทดสอบระบบ รวมกันมากกว่า 87,000 คน แต่เราสามารถผลิตบุคลากรกลุ่มนี้ได้เพียงไม่ถึง 30,000 คน เกิดเป็นช่องว่างของบุคลากรด้านนี้กว่า 60,000 คน ที่ยังคงต้องสรรหามาเพิ่มเติม สอดคล้องกับผลการสำรวจผู้ประกอบการในประเทศไทยของ Deloitte ที่พบว่าผู้ประกอบการประสบความยากลำบากในการเสาะหาพนักงานในตำแหน่งงานด้านดิจิทัลในสาขาใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักวิเคราะห์ข้อมูล (data analyst) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data scientist)

สำหรับภาคการเงินเพื่อเร่งเตรียมบุคลากรรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สมาคมธนาคารไทยจึงได้เร่งเดินหน้า Up & Re-Skill พนักงานที่ปัจจุบันทั้งระบบธนาคารพาณิชย์มีอยู่กว่า 1.3 แสนราย ให้มี Digital Literacy มากขึ้น โดยอาศัย Online Learning Platform นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเร่งสร้างการเรียนรู้ โดยสถาบันธนาคารไทย (Thai Banking Academy – TBAC) พัฒนาความรู้ในด้านต่างๆ ให้บุคลากรในภาคการเงินการธนาคาร รวมถึงยกระดับให้ TBAC มีบทบาทเป็น Hub ระดับชาติในด้านองค์ความรู้ และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมการเงินมีสมรรถนะที่สามารถตอบโจทย์โลกการเงินที่เปลี่ยนไป ตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับโลกการเงินในยุคดิจิทัล รวมถึงสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น สอดรับกับ Business Model ของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ Digital Banking และเน้น Agility อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งนำพาประเทศไทยไปสู่โลกเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ และสอดรับบริบทใหม่ๆ ใน New normalในการแข่งขันในยุคหลังโควิด-19

ท้ายสุด นายผยง ได้กล่าวสรุปว่า ท่ามกลางการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความตั้งใจของสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ในยุทธศาสตร์ทั้ง 4 Themes และ Road Map ในระยะ 3 ปีข้างหน้านั้น เป็นเพียงจิ๊กซอว์หนึ่งในการส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาคธุรกิจและยกระดับเศรษฐกิจไทย ซึ่งยังจำเป็นต้องประกบกับจิ๊กซอว์ชิ้นอื่นๆ จากความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ดังเช่น การเปลี่ยนแปลง Landscape ภาคการเงินในประเด็น 3-Open ที่ ธปท.กำลังให้ความสำคัญ ซึ่งสมาคมธนาคารไทยพร้อมร่วมมือสนับสนุน บนพื้นฐานของการพิจารณาถึงความสมดุลและความเสมอภาคอย่างรอบด้าน ตลอดจนเท่าทันความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket

You may also like...